​ยุง (Mosquito) 

 
ยุง เป็นแมลงที่พบได้ทั่วโลก แต่พบมากในเขตร้อนและเขตอบอุ่น โดยปกติ ตัวเมียมักจะกินเลือดเป็นอาหาร ส่วนตัวผู้มักจะกินน้ำหวานในดอกไม้ ยุงยังเป็นแมลงที่เป็นพาหะแพร่เชื้อโรคอีกด้วย เช่น ไข้เลือดออก ยุงทั่วโลกมีอยู่ประมาณ 3,450 ชนิด แต่พบในประเทศไทยประมาณ 412 ชนิด แต่ที่คุ้นเคยกันดี คือ ยุงก้นปล่อง (Anopheles) และยุงลาย (Aedes)
 
วงจรชีวิต และลักษณะโดยทั่วไปของยุง
ยุงมีการเจริญเติบโตแบบสมบูรณ์ หมายถึง
การเจริญเติบโตที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างในแต่ละระยะแตกต่างกันมาก
แบ่งเป็น 4 ระยะ คือระยะไข่ ระยะลูกน้ำ ระยะตัวโม่ง และระยะตัวเต็มวัย
ระหว่างการเจริญเติบโต ในแต่ละระยะ ต้องมีการลอกคราบ ซึ่งถูกควบคุม
โดยฮอร์โมนที่สำคัญ 3 ชนิด
 
ระยะไข่ 
ไข่ยุงแต่ละชนิดมีขนาดและลักษณะไม่เหมือนกัน จากลักษณะการวางไข่อาจบอกชนิดของกลุ่มยุงได้ ยุงชอบวางไข่บนผิวน้ำหรือ บริเวณชื้น เช่น บริเวณขอบภาชนะหรือระดับน้ำการวางไข่ของยุงแบ่งออกเป็น 4 ประเภท 
 
 
  • วางไข่ใบเดี่ยวๆ บนผิวน้ำ เช่น ยุงก้นปล่อง
 
  • วางไข่เป็นแพบนผิวน้ำ เช่น ยุงรำคาญ
 
  • วางไข่เดี่ยวๆ ตามขอบเหนือระดับน้ำ เช่น ยุงลาย
           ยุงรำคาญวางไข่เป็นแพบนผิวน้ำ
  • วางไข่ติดกับใบพืชน้ำเป็นกลุ่ม เช่น ยุงเสือหรือยุงฟิลาเรีย
                                                                                                                         

ระยะไข่ใช้เวลา 2-3 วัน จึงฟักตัวออกเป็นลูกน้ำ ในยุงบางชนิดไข่สามารถอยู่ในสภาพแห้งได้หลายเดือนจนกระทั่งเป็นปี เมื่อมีน้ำก็ฟักออกเป็น ลูกน้ำ แหล่งวางไข่ของยุงแต่ละชนิดแตกต่างกัน เช่น ยุงลายชอบวางไข่ในภาชนะขังน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น ส่วนยุงรำคาญชอบวางไข่ในแหล่งน้ำ สกปรกต่างๆ น้ำเสียจากท่อระบายน้ำ แต่หากไม่พบสภาพน้ำที่ชอบยุงก็อาจวางไข่ในสภาพน้ำที่ผิดไป
 
ระยะลูกน้ำ
ลูกน้ำแต่ละชนิดอาศัยอยู่ในน้ำต่างชนิดกัน เช่น ภาชนะขังน้ำต่างๆ ตามบ่อน้ำ หนอง ลำธาร โพรงไม้หรือกาบใบไม้ที่อุ้มน้ำ เป็นต้น ลูกน้ำยุงส่วนใหญ่ลอยตัวขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำ โดยมีขนลักษณะคล้ายใบพัด ช่วยให้ลอยตัวและหายใจซึ่งอยู่ด้านข้างของอกและลำตัว ส่วนยุงเสือจะใช้ท่อหายใจซึ่งสั้นและปลายแหลมเจาะพวกพืชน้ำและหายใจเอา ออกซิเจนผ่านรากของพืชน้ำ อาหารของลูกน้ำยุง ได้แก่ สิ่งมีชีวิต เล็กๆ ในน้ำ เช่น แบคทีเรีย ยีสต์ สาหร่าย ลูกน้ำจะลอกคราบ 4 ครั้ง เมื่อลอกคราบครั้งสุดท้ายกลายเป็นตัวโม่ง การเจริญเติบโตในระยะลูกน้ำ ใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน ขึ้นอยู่กับชนิดของลูกน้ำ อาหาร อุณหภูมิ และความหนาแน่นของลูกน้ำด้วย

ระยะตัวโม่ง 
ตัวโม่งรูปร่างผิดไปจากลูกน้ำ ส่วนหัวเชื่อมต่อกับส่วนอก รูปร่างลักษณะคล้ายเครื่องหมายจุลภาค (,) ระยะนี้ไม่กินอาหาร เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว มีท่อหายใจคู่หนึ่งที่ส่วนหัวเรียก trumpets ระยะนี้ใช้เวลาในการเจริญเติบโตเพียง 1-3 วัน
 
ระยะตัวเต็มวัย 
ตัวยุงแบ่งออกเป็น 3 ส่วน

ส่วนหัว
มีลักษณะ กลมเชื่อมติดกับส่วนอก ประกอบด้วยตา 1 คู่ ตาของยุงเป็นแบบตาประกอบ มีหนวด 1 คู่มีระยางค์ปาก 1 คู่ และมีอวัยวะ เจาะดูด 1 อัน มีลักษณะเป็นแท่งเรียวยาวคล้ายเข็มสำหรับแทงดูดอาหาร หนวดของยุงแบ่งเป็น 15 ปล้อง สามารถใช้จำแนกเพศของยุงได้ แต่ละปล้องจะมีขนรอบๆ ในยุงตัวเมียขนนี้จะสั้นและไม่หนาแน่น เรียกว่า pilose antenna ส่วนตัวผู้ขนจะยาวและเป็นพุ่มเรียกว่า plumose antenna หนวดยุงเป็นอวัยวะที่ใช้ในการรับคลื่นเสียง ตัวผู้จะใช้รับเสียงการกระพือปีกของตัวเมีย ความชื้นของอากาศและรับกลิ่น
Labial palpi แบ่งเป็น 5 ปล้อง อยู่ติดกับ proboscis ในยุงก้นปล่องตัวเมีย plapi จะตรงและยาวเท่ากับ proboscis ส่วนยุงตัวผู้ตรง ปลาย palpi จะโป่งออกคล้ายกระบอง ในยุงอื่นที่ไม่ใช่ยุงก้นปล่อง palpi ของตัวเมียจะสั้นประมาณ 1/4 ของ proboscis ส่วนตัวผู้ palpi จะยาวแต่ ตรงปลายไม่โป่งและมีขนมากที่สองปล้องสุดท้ายซึ่งจะงอขึ้น

ส่วนอก
มีปีก 1 คู่ ด้านบนของอก ปล้องกลางปกคลุมด้วยขนหยาบๆ และเกล็ด ซึ่งมีสีและลวดลายต่างๆ กัน เราใช้ลวดลายนี้สำหรับแยก ชนิดยุงได้ ด้านข้างของอกมีเกล็ดและกลุ่มขนซึ่งใช้แยกชนิดของยุงได้เช่นกัน ด้านล่างของอกมีขาโดยขาแต่ละข้างจะประกอบด้วย coax ซึ่งมีขนาดสั้นอยู่ที่โคนสุด ต่อไปเป็น trochanter คล้ายๆ บานพับ femur , tibi และ tarsus ซึ่งมีอยู่ 5 ปล้อง ปล้องสุดท้ายมีหนามงอๆ 1 คู่ เรียกว่า claws ขาก็มีเกล็ดสีต่างๆ ใช้แยกชนิดของยุงได้ ปีกมีลักษณะแคบและยาว มีลายเส้นปีก veins ซึ่งมีชื่อเฉพาะของแต่ละเส้นปีกและ จะมีเกล็ดสีต่างๆ กัน ตรงขอบปีกด้านหลังจะมีขนเรียงเป็นแถวเรียก เกล็ด และขนบนปีกนี้ก็ใช้ในการแยกชนิดของยุงได้เช่นกัน นอกจากนี้ ยังมี halteres 1 คู่ อยู่ที่อกปล้องสุดท้ายมีลักษณะเป็นปุ่มเล็กๆ อยู่ต่อจากปีก เมื่อยุงบิน halteres จะสั่นอย่างเร็วใช้ประโยชน์ในการทรงตัว ของยุง

ส่วนท้อง
มีลักษณะกลม ยาว ประกอบด้วย 10 ปล้อง แต่จะเห็นชัดเพียง 8 ปล้อง ปล้องที่ 9-10 จะดัดแปลงเป็นอวัยวะสืบพันธุ์ในยุงตัวผู้จะใช้ ส่วนนี้แยกชนิดของยุงได้ 

วงจรชีวิตของยุง
ชนิดยุงที่สำคัญ

ยุงลายแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

1. ยุงลายบ้าน 

เป็นตัวการสำคัญในการนำโรคไข้เลือดออกในประเทศไทย (ในประเทศอเมริกาใต้
นำโรคไข้เหลือง yellow fever) มีถิ่นกำเนิดจากอัฟริกา ชอบอาศัยอยู่ในบ้านหรือ
บริเวณรอบๆ บ้าน แหล่งเพาะพันธุ์ ยุงลาย ได้แก่ ภาชนะขังน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น
เช่น  ตุ่มน้ำ ถังซีเมนต์ใส่น้ำ บ่อคอนกรีตในห้องน้ำ จาน รองขาตู้กันมด ยางรถ
ยนต์เก่า  กระป๋อง แจกัน รางน้ำฝนที่มีน้ำขัง กะลามะพร้าว เป็นต้น

ยุงลายบ้านมีวงจรชีวิตเป็นแบบสมบูรณ์เช่นเดียวกับยุงชนิดอื่น การเจริญเติบโตแบ่งเป็น 4 ระยะ คือ
 
ระยะไข่ ยุงลายจะวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ ติดไว้ที่ผนังด้านในบริเวณที่ชื้นเหนือระดับน้ำ ไข่ใหม่มีสีขาวต่อมาประมาณ 12-24 ชั่วโมง จะ เปลี่ยนเป็นสีดำ ไข่ยุงลายสามารถอยู่ในที่แห้งได้นานเป็นปี (ความชื้นสูงและอุณหภูมิประมาณ 28-30 องศาเซลเซียส) เมื่อ ระดับน้ำท่วมไข่ จึงฟักตัวออกมาเป็นลูกน้ำ ระยะ ฟักตัวในไข่ประมาณ 2.5-3.5 วัน
ระยะลูกน้ำ หลังจากออกจากไข่แล้วลูกน้ำเริ่มกินอาหาร การเจริญเติบโตและลอกคราบ 4 ครั้ง ตัวอ่อนที่ได้จากการลอกคราบแต่ละครั้ง เรียกว่า instar เช่น ลูกน้ำที่ฟักออกจากไข่เรียกว่า first instar เมื่อลอกคราบต่อไปกลายเป็น second instar เป็นต้น ลูกน้ำใช้เวลาในการ เจริญเติบโตประมาณ 7-10 วัน ลอกคราบครั้งสุดท้ายกลายเป็นตัวโม่งหรือดักแด้
ระยะตัวโม่ง ระยะนี้ตัวจะโค้งงอ ไม่กินอาหาร ชอบลอยตัวติดกับผิวน้ำใช้เวลา 1-2 วัน จึงลอกคราบออกเป็นตัวเต็มวัย
ระยะตัวเต็มวัย เริ่มผสมพันธุ์เมื่ออายุประมาณ 24 ชั่วโมง ตัวเมียผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียวแต่วางไข่ได้หลายครั้ง ส่วนตัวผู้ผสมพันธุ์ได้หลาย สิบครั้งในหนึ่งชั่วโมง หลังจากนั้นยุงตัวเมียจะออกกินเลือด ยุงลายชอบกินเลือดคนและหากินในเวลากลางวัน บางครั้งยุงลายอาจกัดคนในเวลา กลางคืนแต่เป็นภาวะจำเป็น เช่น ไม่มีเหยื่อในเวลากลางวัน หลังจากกินเลือดอิ่มแล้วยุงตัวเมียจะไปเกาะพักรอให้ไข่เจริญเติบโต เรียกช่วงนี้ว่า gonotrophic cycle ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2.5-3.5 วัน แหล่งเกาะพักของยุงลาย ได้แก่ บริเวณที่มืดอับลม ในห้องน้ำในบ้าน โดยเฉพาะตาม สิ่งห้อยแขวนภายในบ้าน เช่น เสื้อผ้า มุ้ง ม่าน เป็นต้น หลังจากไข่เจริญเต็มที่แล้วจะบินไปหาที่วางไข่ ชอบที่ร่ม น้ำที่มีใบไม้ร่วงลงไปและมีสี น้ำตาลอ่อน จะกระตุ้นการวางไข่ได้ดีแต่ยุงลายไม่ชอบน้ำที่มีกลิ่นเหม็น ลักษณะของยุงลายบ้านที่สำคัญตรงบริเวณด้านหลังของอกมีเกล็ดสีขาว เป็นรูปเคียว 2 อันคู่กัน 
 

2. ยุงลายสวน

ยุงลายชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในเอเชีย ลักษณะคล้ายคลึงกับยุงลายบ้านมาก แต่
สังเกตได้จากเกล็ดสีขาวบนด้านหลังของอกไม่ เป็นรูปเคียว แต่เป็นเส้นเดียว
พาดตรงตามยาวตรงกลาง อุปนิสัยความเป็นอยู่คล้ายยุงลายแต่มักจะพบ
อยู่ในชนบท ในสวนผลไม้ สวนยาง อุทยานต่างๆ แหล่งน้ำที่ใช้เพาะพันธุ์มักจะ
เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น โพรงไม้ กระบอกไม้ไผ่ ลูกมะพร้าว กะลา กระป๋อง 
ขวดพลาสติกที่นักท่องเที่ยวทิ้งไว้ เป็นต้น ยุงลายสวนจะบินได้ไกลกว่ายุงลาย
บ้าน ยุงชนิดนี้เป็นตัวการน้ำเชื้อไวรัสโรคไข้เลือดออกได้เช่นเดียวกัน
 

ตระกูลยุงคิวเล็กซ์หรือยุงรำคาญ

 ยุงรำคาญ Cluex quiquefasciatus 

- พบมากในแอฟริกาและเอเชีย วางไข่เป็นแพในน้ำเน่าเสีย แหล่งเพาะพันธุ์มักอยู่ไกลบ้าน ไข่แพหนึ่ง มีประมาณ 200-250 ฟอง ไข่ฟักภายใน 30 ชั่วโมงที่อุณหภูมิ 24-30 องศาเซลเซียส ออกหากินกลาง คืน ชอบกินเลือดคน ในประเทศพม่า อินเดีย อินโดนีเซีย ยุงชนิดนี้เป็นตัวการสำคัญในการนำ โรคฟิลาเรีย สำหรับประเทศไทยพบว่ายุงชนิดนี้สามารถนำเชื้อฟิลาเรียได้เช่นกันแต่ยังมี ข้อมูลน้อย นอกจากนี้อาจทำให้มีอาการคันแพ้และเกิดเป็นแผลพุพองได้
 

 Cluex Tritaeniorhynchus 

- ยุงชนิดนี้เป็นตัวนำเชื้อไวรัส Japanese encephalitis ซึ่งทำให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบทั่วไป ในประเทศไทย แต่พบมากในจังหวัดภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย อุตรดิตถ์ น่าน แหล่งเพาะ พันธุ์อยู่ตามท้องนา แหล่งน้ำที่เกิดจากรอยเท้าสัตว์ บ่อน้ำเล็กๆ ที่มีพืชน้ำ ลำธาร ชอบกินเลือดวัว 
ควาย หมูมากกว่าเลือดคนและนก ออกหากินตั้งแต่พลบค่ำจนตลอดคืน ส่วนมากหากินนอกบ้าน

 Cluex Gelidus 

- เป็นตัวนำเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบ เช่นเดียวกับ Cx. Tritaeniorhynchus แหล่ง เพาะพันธุ์ได้แก่ สระน้ำ บ่อ หนองน้ำ น้ำล้างคอกสัตว์ ลำธารเล็กๆ ชอบอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีพืชน้ำ หากินกลางคืน ชอบกินเลือดสัตว์
 

 Clux Fuscocephala 

- เป็นตัวนำเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบ พบตามหนองน้ำ บึงนาข้าว หากินกลางคืน ชอบ กินเลือดสัตว์ เช่น วัว ควาย หมู นก และคน

 

ตระกูลยุงก้นปล่อง

ยุงตระกูลนี้เป็นตัวนำโรคมาลาเรีย ซึ่งเกิดจากเชื้อโปรโตซัว Plasmodium ยุงก้นปล้องที่เป็นพาหะสำคัญในประเทศไทย มี 4 ชนิด คือ

 Anopheles minimus 

- เพาะพันธุ์ตามลำธารที่มีน้ำใสสะอาดไหล ไหลช้าๆ มีหญ้าขึ้นตามขอบและมีร่มเงาเล็กน้อย พบในท้อง ที่แถบเขาหรือใกล้เขา เกาะพักในบ้านที่ค่อนข้างมืดตอนกลางวัน แต่ในบางท้องที่ไม่เกาะพักในบ้าน ชอบกินเลือดคนมากกว่าสัตว์


 Anophels dirus (A. balabacensis) 

- เพาะพันธุ์ตามแหล่งน้ำนิ่ง มีร่มเงา เช่น ตามปลักโคลน รอยเท้าสัตว์และแหล่งน้ำชั่วคราวอื่นๆ ที่มีน้ำ ใส มีใบไม้แห้ง ถังซีเมนต์ รดน้ำต้นไม้ในสวน ชอบอยู่ตามเขาและป่าเชิงเขา กัดคนตอนกลางคืน ตั้งแต่เวลา 22.00 น. และมากที่สุดหลังเที่ยงคืน มีนิสัยชอบเกาะพักนอกบ้าน ชอบกินเลือดคน

 Anopheles sundaicus 

- เพาะพันธุ์ตามแหล่งน้ำกร่อยที่มีแสงแดดส่องถึงพบทางแถบชายทะเล หากินนอกบ้าน ไม่มีรายงานเกาะพักในบ้าน

 Anopheles maculates 

- เพาะพันธุ์ตามท้องที่ป่าเขา ป่าบุกเบิกทั่วไป แหล่งเพาะพันธุ์ได้แก่ ลำธารเล็กๆ ที่มีแสงแดดส่องถึง คล้ายแหล่งเพาะพันธุ์ ของ A. Minimus ตัวเต็มวัยชอบเกาะพักตามพุ่มไม้เตี้ยๆ กินเลือดทั้งคนและสัตว์ หากินนอกบ้านมากกว่าในบ้าน 

วงจรชีวิตของยุงก้นปล่อง มีอยู่ 4 ระยะ เช่นกัน 

ระยะไข่ - ยุงก้นปล่องจะวางไข่เป็นฟองเดี่ยว บนผิวน้ำในตอนกลางคืนครั้งละประมาณ 150 ฟอง ไข่รูปร่างคล้ายเรือ บริเวณสองข้างตอนกลาง ของฟองไข่มีเยื่ออากาศเป็นทุ่นเรียกว่า float เป็นส่วนที่ทำให้ไข่ลอยน้ำซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของไข่ยุงในตระกูลยุงก้นปล่อง ไข่ใช้เวลา 2-3 วัน จึงฟักตัวเป็นลูกน้ำ


ระยะลูกน้ำ - มีการลอกคราบ 4 ครั้ง ลอกคราบครั้งสุดท้ายกลายเป็นตัวโม่งใช้เวลาประมาณ 13-15 วัน หรือมากกว่านั้น ที่อุณหภูมิต่ำลูกน้ำ วางตัวขนานกับผิวน้ำ มีขนรูปพัดเรียกว่า palmate hairs ปรากฎอยู่บนปล้องท้องเกือบทุกปล้องทำหน้าที่พยุงลูกน้ำให้ลอยตัวเป็นลักษณะ เฉพาะของลูกน้ำยุงก้นปล่อง

ระยะตัวโม่ง – ใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน เมื่อลอกคราบครั้งสุดท้ายกลายเป็นตัวยุงพร้อมที่จะบิน รวมระยะเวลาจากไข่จนกลายเป็นตัวเต็มวัย ประมาณ 17-21 วัน

ระยะตัวเต็มวัย – ยุงตัวเมียผสมพันธุ์ได้ทันที การผสมพันธุ์เพียงครั้งหนึ่งสามารถวางไข่ได้ 5-6 ชุด แต่จะต้องได้รับเลือดก่อนทุกครั้ง เมื่อได้ กินเลือดแล้วยุงตัวเมียจะไปเลือกที่สงบเกาะพักรอให้ไข่สุก ซึ่งใช้เวลาประมาณ 48 ชั่วโมง แล้วจะบินไปหาแหล่งน้ำที่เหมาะสมเพื่อวางไข่ยุง ที่วางไข่ เรียกว่า parous ส่วนยุงที่ยังไม่เคยวางไข่เรียกว่า nulliparous
 

ตระกูลยุงเสือหรือยุงฟิลาเรีย


ยุง ในตระกูลนี้ที่สำคัญและเป็นตัวการนำโรคฟิลาเรีย Filariasis ซึ่งเกิดจากเชื้อ Brugia malayi ทางภาคใต้ของประเทศไทย ชนิดที่พบแพร่หลายได้แก่
 
       
 Mansonia uniformis
 Mansonia dives
 Mansonia bonneae
 Mansonia annulifera


 
วงจรชีวิตของ ยุง Mansonia เป็นแบบสมบูรณ์ complete metamorphosis เช่นเดียวกับ ยุงอื่นๆ ระยะเวลาการเจริญเติบโตค่อนข้าง ยาว จากไข่จนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัยใช้เวลาประมาณ 23-30 วัน มี4 ระยะ คือ

ระยะไข่ - ไข่จะถูกวางติดกับด้านใต้ของใบพืชน้ำ มีสีคล้ำ เกาะกันอยู่เป็นกระจุกรูปร่างคล้ายกลีบดอกไม้ กลุ่มหนึ่งประกอบด้วยไข่ประมาณ 75-200 ฟอง ไข่ใช้เวลา 2-3 วัน จึงฟักเป็นตัวลูกน้ำ

ระยะลูกน้ำ - มีลักษณะพิเศษอยู่ที่ท่อหายใจ siphon มีลักษณะรูปกรวยสั้น ปลายแหลมหยักคล้ายใบเลื่อยใช้เจาะติดกับต้นหรือรากพืชน้ำ มีลิ้น ปิดเปิดแข็งแรงมาก หายใจโดยได้รับออกซิเจนจากเซลล์ของพืชน้ำ ใช้เวลาเจริญเติบโต 16-20 วัน

ระยะตัวโม่ง – ท่อหายใจดัดแปลงรูปร่างเพื่อแทงเข้าไปในเนื้อเยื่อพืชน้ำใช้เวลา 5-7 วัน

ระยะตัวเต็มวัย – ยุงชนิดนี้แตกต่างจากยุงชนิดอื่นๆ ตรงที่เกล็ด Scale บนปีกมีสีสันลวดลายแปลกตาโดยมากเป็นสีน้ำตาล โดยเฉพาะที่เกล็ด มีลักษณะกลมและใหญ่กว่ายุงชนิดอื่น ยุงชนิดนี้หากินกลางคืน เมื่อผสมพันธุ์และกินเลือดแล้วมักจะเกาะพักบริเวณยอดหญ้ารอจนไข่สุกจึงไป วางไข่ในแหล่งเพาะพันธุ์ตามบึง หรือหนองน้ำที่มีพืชน้ำ เช่น พวกจอก และผักตบชวา ยุงตัวเมียหากินนอกบ้าน ชอบกินเลือดวัว สุนัข แพะ สัตว์ปีก และคน เวลาที่ออกหากินมากที่สุดเป็นช่วงพลบค่ำและก่อนพระอาทิตย์ขึ้น อาจพบออกหากินเวลากลางวันในบริเวณที่ความชื้นสูงมีร่ม เงา ยุงตัวเมียกินเลือดเพียงครั้งเดียวก็เพียงพอต่อการเจริญของไข่ ระยะเวลาในการสร้างไข่ประมาณ 4-5 วัน